ถ้อยคำยอดฮิตติดหูจากภาพยนตร์ “จูราสสิก พาร์ก” ที่บอกว่า “ชีวิตย่อมมีหนทางของมันเอง” สะท้อนถึงความซับซ้อนและคาดไม่ถึงของธรรมชาติที่พยายามสืบต่อสรรพชีวิตทุกเผ่าพันธุ์ให้ดำรงคงอยู่ โดยมนุษย์ไม่อาจจะเข้าแทรกแซงขัดขวางกระบวนการนี้ได้เสมอไป
ประโยคนี้หวนกลับมาอยู่ในความสนใจของแวดวงวิทยาศาสตร์อีกครั้ง หลังมีการเปิดเผยว่าการทดลองในบราซิลซึ่งใช้ยุงตัวผู้ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมให้เป็นหมัน เข้าช่วยลดประชากรยุงท้องถิ่นที่เป็นพาหะนำโรคนั้น ได้ล้มเหลวลงอย่างคาดไม่ถึง
- มาลาเรีย : ผู้เชี่ยวชาญตั้งเป้ากำจัดโรคร้ายนี้ให้หมดจากโลกภายใน 30 ปี
- ยุงเบื่ออาหารกินเลือดคนน้อยลง หลังโดนวางยาลดความอ้วน
- มาลาเรีย: กลายพันธุ์อย่างไรจนเป็นเพชฌฆาต
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ รายงานถึงกรณีดังกล่าวในวารสาร Scientific Reports โดยระบุว่าผลการทดลองล่าสุดที่เมืองจาโคบิโนของประเทศบราซิลนั้น นอกจากจำนวนของยุงที่เกิดมาใหม่จะไม่ลดลงแล้ว ยังเกิด “ลูกผสม” ที่แข็งแกร่งเกินคาดจากยุงพ่อพันธุ์ที่ควรจะเป็นหมันเสียอีกด้วย
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างหวังว่า การสร้างฝูงยุงตัวผู้ที่เป็นหมันหลายสิบล้านตัวโดยใช้วิธีตัดต่อยีน แล้วปล่อยให้มันเข้าผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในธรรมชาติทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 2-3 ปีติดต่อกัน จะช่วยลดประชากรยุงลงได้มากจนหมดสิ้นไป เพราะยุงตัวเมียจำนวนหนึ่งจะไม่มีลูกเกิดมา หรือถ้ามีก็จะเป็นตัวอ่อนที่ไม่แข็งแรง และจะตายลงอย่างรวดเร็วก่อนมีโอกาสได้เติบโตถึงวัยเจริญพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเยลกลับพบว่า แผนการนี้ได้ผลเพียงในระยะแรกเท่านั้น แม้ประชากรยุงในธรรมชาติที่เมืองจาโคบิโนจะเคยลดลงสูงสุดถึง 85% ในระหว่างการทดลองช่วงแรก แต่ตัวเลขดังกล่าวก็กลับมาเพิ่มจำนวนขึ้นจนเท่าเดิม ในอีก 18 เดือนถัดมา
แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจยิ่งไปกว่านั้น ก็คือการค้นพบยุงลูกผสมที่มียีนของยุง 3 สายพันธุ์อยู่รวมกัน กล่าวคือได้รับยีนจากพ่อที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมโดยใช้ยีนของยุงสายพันธุ์คิวบาและเม็กซิโก ทั้งยังได้รับยีนจากแม่ที่เป็นยุงสายพันธุ์ท้องถิ่นบราซิลอีกด้วย
การถ่ายทอดยีนดัดแปลงจากยุงตัวพ่อที่ควรจะเป็นหมันไปสู่รุ่นลูกได้นั้น นับว่าเหนือความคาดหมายของนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากยุงลูกผสมนั้นไม่น่าจะเกิดมา หรือควรจะเกิดมาอ่อนแอและตายไปในทันที แต่ในกรณีนี้ทีมตรวจสอบกลับพบว่า ยุงลูกผสมนั้นแข็งแรงพอที่จะเติบโตขึ้นและขยายพันธุ์สืบต่อไปได้ ซ้ำร้ายยังอาจจะทำให้ประชากรยุงในธรรมชาติโดยรวมยิ่งเพิ่มจำนวนได้มากขึ้นไปอีก
ยุงสายพันธุ์ที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมให้เป็นหมันดังกล่าว เป็นผลงานของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Oxitec ในสหราชอาณาจักร โดยการทดลองมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาวิธีกำจัดยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ ทั้งโรคไข้เหลือง, ไข้เลือดออกเดงกี, โรคชิคุนกุนยา และไข้ซิกา แต่ดูเหมือนว่าวิธีการที่ทดลองดังกล่าวจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว และยังไม่ทราบด้วยว่า ยุงลูกผสมที่เกิดมาจะมีอันตรายต่อมนุษย์มากกว่า หรือเป็นพาหะนำโรคได้คล่องตัวกว่าสายพันธุ์เดิมของพ่อแม่หรือไม่