รู้มั้ยว่าหน้าหนาว เป็นอีกฤดูที่ควรดูแลสุขภาพกันเป็นพิเศษ เนื่องจากอากาศที่เย็นและชื้นทำให้ผู้คนเจ็บป่วยได้ง่าย แล้วเราจะดูแลสุขภาพตัวเองในหน้าหนาวอย่างไรให้แข็งแรง วันนี้เรามีคำแนะนำจาก แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าวิธีดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเลย ขอเพียงแค่ “ใส่ใจ” และ “รักตัวเอง” ให้มาก เพื่อร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพดีตลอดหน้าหนาว
สภาพอากาศ “แปรปรวน” ตัวการ “ก่อกวน” ปัญหาสุขภาพ
สาเหตุของความเจ็บป่วยในหน้าหนาว แพทย์หญิงพรรณพิมล อธิบายไว้ว่า มักเกิดจากสภาพอากาศที่ “แปรปรวน” ปัจจุบันอุณหภูมิแต่ละวันในประเทศไทยขึ้นๆ ลงๆ กลางวันอากาศร้อนอบอ้าว ตกเย็นจนรุ่งเช้าอากาศหนาวเย็น ไม่มีความแน่นอนเหมือนแต่ก่อน เช่น หากเป็นหน้าฝนก็ฝนตกต่อเนื่อง หรือหน้าหนาวก็หนาวต่อเนื่อง
วิธีดูแลตัวเองง่ายๆเพื่อไม่ให้ป่วยในช่วงหน้าหนาว คือ การสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคต่างๆ บางพื้นที่ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงขึ้นลงระหว่างกลางวันกับกลางคืนมีความแตกต่างกันมาก การรักษาอุณหภูมิของร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องดูแลให้ดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และเด็กอ่อน เด็กเล็กซึ่งยังไม่สามารถพูดสื่อสารได้ เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้ง่าย หากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหากเกิดโรคดังกล่าวในช่วงหน้าหนาว อาจส่งผลร้ายกลายเป็นโรคหลอดลมอักเสบและโรคปอดบวมได้ในที่สุด
“หลักช่วยง่ายที่สุด ทำได้ไม่ยาก คือ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ นอกจากช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายแล้วยังช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดีด้วย อีกวิธีคือ ระมัดระวังการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ อากาศร้อนตอนกลางวันก็ควรใส่เสื้อผ้าที่สบายๆ ระบายอากาศได้ดี ตอนเย็นจนรุ่งเช้าอากาศหนาว ควรสร้างความอบอุ่นร่างกายให้กับตนเองด้วยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด”.
ทฤษฎี “ฤทธิ์อาหาร” ปรับธาตุสมดุล ป้องกันโรค
นอกจากนี้อธิบดีกรมอนามัย ยังชี้แนะวิธีกับทีมข่าวฯ ต่อว่า เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกาย หากอากาศร้อนในตอนกลางวัน แนะนำดื่มหรือกินผลไม้กลุ่มแตงต่างๆ ซึ่งมีฤทธิ์เย็นและมีน้ำเยอะ เช่น แตงโม แตงไทย หากอุณหภูมิหนาวเย็น ควรดื่มน้ำสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนเพื่อช่วยคลายหนาว เช่น น้ำขิง น้ำข่า ในช่วงอากาศหนาวเย็น อาหารมักจับตัวเป็นไข ก่อนบริโภคควรอุ่นให้ร้อน นอกจากช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยแล้ว ยังช่วยเพิ่มอุณหภูมิความร้อนให้กับร่างกายด้วย
อย่างไรก็ดี ต้องยึดความสะอาดเป็นสำคัญ ล้างมือบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหาร ไม่เช่นนั้นอาจเกิดโรคท้องร่วงได้ สำหรับคุณแม่มือใหม่ให้ดูแลลูกน้อยเป็นพิเศษ ลูกอาจปากแห้งแตกเมื่อเจอสภาพอากาศที่หนาวเย็น ควรให้ลูกดื่มนมจากเต้าบ่อยๆ วันละ 6-8 ครั้ง และช่วงเวลาที่ให้นมลูก ควรกอดเพื่อช่วยสร้างความอบอุ่นให้ลูกด้วย
“อากาศหนาวควรดื่มน้ำอุ่นๆ หรือเครื่องดื่มสมุนไพรอุ่นๆ เช่น น้ำขิง น้ำข่า เพราะมีฤทธิ์ร้อน จะช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกาย ร่างกายอบอุ่นและคลายหนาวได้ หรือถ้าอยากให้นอนหลับสบายยิ่งขึ้น ก่อนนอนอาจดื่มนมอุ่นๆ สักแก้วก็ได้”
“ดื่มเหล้า” แก้หนาวเป็นความเชื่อที่ “เสี่ยงตาย” โดยไม่รู้ตัว
สำหรับวิธีคลายหนาวและรักษาอุณหภูมิของร่างกายที่หลายคนเข้าใจ และยกยอ่งว่าการดื่มแอลกอฮอล์เหมาะสมที่สุดและช่วยคลายหนาวนั้น อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า เป็นความเชื่อผิดๆ ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต โดยอธิบายว่า หลังดื่มแอลกอฮอล์ร่างกายจะรู้สึกอบอุ่นชั่วระยะ เพราะหลอดเลือดฝอยที่อยู่ใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัว เพื่อให้ความร้อนในร่างกายถูกระบายออกมาได้ง่ายขึ้น
หากดื่มหนักจะนำไปสู่การเกิดภาวะไฮโปเทอร์เมีย (Hypothermia) จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เพราะไปเร่งให้ร่างกายระบายความร้อนออกมามากๆ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงกว่าปกติ ยิ่งดื่มมากยิ่งทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงมาก เมื่อหลับสนิทเพราะฤทธิ์เหล้า ร่างกายยังรู้สึกร้อน จึงไม่ดูแลตัวเองด้วยการห่มผ้า หรือใส่เสื้อ เมื่อร่างกายสัมผัสกับอากาศเย็นเป็นเวลานาน จึงทำให้เสียชีวิตได้
“หน้าหนาวไม่ควรดื่มเหล้า ดื่มหนักมากๆ พอเมาแล้วเข้านอน อุณหภูมิร่างกายจะลด อุณหภูมิอากาศลดด้วย บางคนเมาจัดแล้วไปนอน จะไม่ห่มผ้า ไม่ใส่เสื้อ มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ ไม่แนะนำให้ใช้สุราเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ดื่มน้ำ นม หรือน้ำสมุนไพรอุ่นจะดีที่สุด”
ท่องเที่ยวหน้าหนาว ระวัง “ภัยในห้องน้ำ” อันตรายถึงชีวิต
นอกจากปัญหาสุขภาพดังกล่าวแล้ว อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยกับทีมข่าวฯ ว่า ช่วงหน้าหนาวไม่ควรอาบน้ำนานๆ และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็นในเวลากลางคืน อาจทำให้ป่วยและช็อกได้ ควรอาบน้ำอุ่นดีที่สุด ช่วยถนอมอุณหภูมิร่างกายให้เป็นปกติและสมดุลตลอดเวลา แต่การอาบน้ำอุ่น โดยเฉพาะคนที่เดินทางไปท่องเที่ยวสัมผัสความหนาวยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และเข้าพักบริเวณอุทยานแห่งชาติหรือรีสอร์ตต่างๆ ที่มีไฟฟ้าไม่เพียงพอ ก็อาจเกิดภัยสุขภาพที่หลายคนคิดไม่ถึง จากการใช้ “เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส” ที่มีไว้บริการนักท่องเที่ยวได้
เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จะใช้แก๊สหุงต้ม หรือ LPG เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตน้ำร้อน โดยขณะทำงานต้องใช้ออกซิเจนในการเผาไหม้ และขณะเดียวกันนั้นก็ได้สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษออกมาด้วย หากแก๊สรั่ว หรือห้องน้ำระบายอากาศไม่ดี ออกซิเจนในห้องน้ำอาจถูกใช้เพื่อการเผาไหม้จนหมด และเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนฯ
เมื่อร่างกายสูดดมก๊าซคาร์บอนฯ ระหว่างใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สเข้าไป จะไปจับเม็ดเลือดแดง ทำให้จับออกซิเจนได้น้อยลง ส่งผลร่างกายขาดออกซิเจน ทำให้วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
“ควรตรวจสอบ ศึกษาวิธีใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สจากเจ้าของสถานที่อย่างละเอียดก่อนใช้ ถ้าห้องนำไม่มีการระบายอากาศที่เพียงพอ ควรเปิดประตู ไม่ควรอาบน้ำนาน และขณะอาบน้ำควรสังเกตอาการ หากรู้สึกวิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบออกจากห้องน้ำ หรือหากได้กลิ่นผิดปกติ ควรรีบปิดเครื่องทำน้ำอุ่น และออกจากห้องน้ำทันที หากพักหลายคน ควรเว้นระยะเวลา 15-20 นาที เพื่อให้อากาศระบาย คนต่อไปจึงอาบต่อได้”
ผู้สูงอายุ พึงดูแลเป็นพิเศษ หน้าหนาว “ผิวแห้ง” ก่อโรคแทรกซ้อน
อย่างไรก็ดี แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร เน้นย้ำการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในหน้าหนาวว่า ต้องพึงระวังให้มาก เนื่องด้วยคนสูงวัย มักมีสภาพผิวหนังที่แห้งอยู่แล้ว ลูก หลานควรใส่ใจและดูแลสุขภาพให้ดีด้วยการให้ดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับผิวหนัง หรือคนที่เป็นโรคเบาหวาน พีงระวังอย่าให้ผิวแห้งแตก หากเกิดเเผลจากการเกา อาจเกิดการอักเสบ และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้
“กลุ่มโรคที่กระทบโดยตรงในหน้าหนาว คือ กลุ่มโรคผิวหนังบางอย่างที่มีผิวแห้ง พอเข้าหน้าหนาวก็จะแห้งมากขึ้น ยิ่งต้องดูแลผิว ต้องศึกษาจากคุณหมอ หากผิวแห้งมากๆ ก็จะกระทบกับตัวโรคที่เป็นอยู่ คนสูงอายุเข้าหน้าหนาวก็ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะปกติผิวจะแห้งง่ายอยู่แล้วตามวัย หากผิวแตกแห้ง ถ้าไปเกาแล้วอักเสบก็จะเกิดการติดเชื้อ มีปัญหาอื่นตามมา เช่น คนเป็นโรคเบาหวาน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวทิ้งท้ายไว้