ข่าวโซเชี่ยล

ครั้งแรก จุฬาฯ ไฟเขียว แต่งกายตามเพศสภาพนิสิตข้ามเพศ

ตามที่ นิสิตหญิงข้ามเพศคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวมตัวเรียกร้องขอแต่งกายตามเพศสภาพ และร้องเรียนให้มีการสอบสวนอาจารย์ผู้สอนท่านหนึ่ง หลังปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียนเพราะไม่แต่งกายชุดนิสิตตามเพศกำเนิด ทั้งยังถูกต่อว่าและกดดันต่างๆ จนนำมาซึ่งการร้องเรียนต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งมีบทบาทและอำนาจเสมือนตุลาการ ตามพ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ.2558 เบื้องต้นได้มีคำสั่งคุ้มครองนิสิตหญิงข้ามเพศดังกล่าวก่อนนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน จุฬาฯ ออกประกาศ เรื่องการแต่งกายของนิสิต พ.ศ.2562 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญในระเบียบทั้งหมด 7 ข้อว่า “นิสิตอาจแต่งเครื่องแบบตามเพศกำเนิดหรือเพศที่แสดงออกก็ได้”, “นิสิตอาจแต่งชุดสุภาพตามเพศกำเนิดหรือเพศที่แสดงออกก็ได้” ลงนามโดย ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562

โดยหนึ่งในนิสิตหญิงข้ามเพศ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ พิ้งค์-จิรภัทร นิสิตชั้นปีที่ 3 โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความตอนหนึ่งว่า ครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้นิสิตข้ามเพศ ในการแต่งกายตามเพศสภาพ

ขอขอบคุณ แม่นาดา ไชยจิตต์ Nada Chaiyajit บัณฑิตหญิงข้ามเพศคนแรกของมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนเพื่อความหลากหลายทางเพศ ที่ให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลือหนูตลอดเส้นทางของความมุ่งมั่น ที่จะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่กลุ่มนิสิตข้ามเพศ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม

ขอขอบพระคุณ คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ที่ช่วยเหลือหนูกับเพื่อนๆให้สามารถแต่งกายได้ตามเพศสภาพ และเป็นกระบอกเสียงหลักที่ช่วยสนับสนุนความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม

ขอขอบพระคุณศาสตราจารย์ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ (อธิการบดี), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ (รองอธิการบดี),ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ (คณบดีคณะนิติศาสตร์) ฯลฯ และอาจารย์ทุก ๆ ท่านที่คอยให้คำแนะนำ คอยช่วยเหลือ และสนับสนุนหนูมาโดยตลอด

ขอขอบคุณสื่อและสำนักพิมพ์ต่างๆ Sirote Klampaiboon Matichon Online – มติชนออนไลน์ ฯลฯ ที่ติดตาม สนับสนุน และช่วยเป็นกระบอกเสียงในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่กลุ่มนิสิตที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นในสังคม

และสุดท้ายขอขอบคุณทุกคนเลยนะคะ ที่คอยมาให้กำลังใจ ให้คำแนะนำและคำปรึกษากัน ทุกๆโพสต์ ทุกๆแชร์ ทุกๆคอมเมนต์ พิ้งค์เข้าไปอ่านเสมอ ซึ่งทุก ๆ กำลังใจได้สร้างพลังให้กับหนูทำให้เกิดความมุ่งมั่นซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้หนูอดทนมาตลอดระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยในแนวทางที่ถูกต้อง

มิตรภาพที่ดีและสวยงาม อาจเกิดจากความหลากหลายในความคิดที่เห็นต่าง แต่สิ่งเหล่านั้นทำให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ

โดยต่างมีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้าไปแสดงความชื่นชมและยินดีเป็นอย่างมาก

ภาพและข้อมูลจาก พิ้งค์-จิรภัทร