หัวหน้า อช.ภูหินร่องกล้า ตรวจสอบกรณีต้นนางพญาเสือโคร่งยืนต้นตายจำนวนมากที่ ที่แปลงปลูกป่าประชาอาสาภูทับเบิก พบตายไป 39 ต้นเพราะถูกด้วงกิน เหตุชาวบ้านเอาวัวมาเลี้ยงแล้วขี้วัวเป็นอาหารของด้วง
จากกรณีเหตุการณ์ต้นพญาเสือโคร่งยืนต้นตายจำนวนมาก ที่แปลงปลูกป่าประชาอาสาภูทับเบิก หมู่ 14 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ จนกระทั่งผู้นำชุมชนชาวไทยเชื้อสายม้งในพื้นที่ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบหาสาเหตุเพื่อป้องกันเหตุลุกลามจนอาจทำให้เสียบรรยากาศของการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวแห่ชมต้นพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งสีชมพูทั่วพื้นที่
ล่าสุด วานนี้ (28 พ.ย.) นายสุริยา กาละสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุของต้นนางพญาเสือโคร่งยืนต้นตายจำนวนมากนั้น นายสุริยากล่าวว่า หลังลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าแปลงที่ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งนี้ มีพื้นที่ราว 126 ไร่ มีต้นไม้ตาย 39 ต้น คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วน่าจะประมาณ 2% ต้นที่ตายนั้นมีลักษณะถูกด้วงกัดกินจนแห้งตาย ซึ่งพื้นที่โดยรอบต้นไม้นั้นจะมีหญ้าขึ้น ชาวบ้านจึงนำวัวมาเลี้ยงเพื่อกินหญ้า และวัวก็ขับถ่ายออกมาเป็นอาหารของด้วง จึงทำให้มีด้วงในพื้นที่ค่อนข้างเยอะและมากัดกินต้นไม้จนตายไปหลายต้น
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า กล่าวต่อว่า ส่วนที่เหลือทั้งหมดนั้นผลัดใบร่วงจนเหลือแต่กิ่งก้าน ตรวจสอบโดยละเอียดพบปลายก้านมีใบอ่อนแตกยอดออกมา จึงยังไม่ตายและไม่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะลักษณะการผลัดใบจนเหลือแต่กิ่งก้านนั้นเป็นธรรมชาติของต้นพญาเสือโคร่งอยู่แล้ว ที่จะผลัดใบเพื่อเตรียมออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี แต่บางปีหากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย ก็อาจจะไม่ออกดอกก็เป็นได้
นายสุริยา กล่าวอีกว่า สำหรับต้นนางพญาเสือโคร่งที่ปลูกแปลงนี้ เริ่มปลูกราวปี 2551 โดยราษฎรจิตอาสาได้ร่วมลงมือปลูกเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่ภูทับเบิกจะได้ถ่ายรูป ก็ต้องขอบคุณชาวบ้านและผู้นำชุมชนที่ดูแลใส่ใจทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่นิ่งเฉย ก็อยากฝากให้ช่วยดูแลต่อไป